สิ่งที่มนุษย์ทนไม่ได้ ก็คือ ทนที่จะสวนทางกับความคิด ความต้องการของตัวเองไม่ได้(ทนที่กิเลสใช้ให้คิด พูด ทำ ไม่ได้)
เช่น
ความยินดีพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
ความพอใจในรูป กลิ่น เสียง สัมภัส : ชายพอใจในหญิง หญิงพอใจในชาย เกิดราคะ ความต้องการ แม้รู้ว่าผิดประเภณีอันดีงาม ก็ทำการชิงสุกก่อนห่ามกัน ทนต่อรูปที่งามไม่ได้ ทนต่อกลิ่นน้ำหอม ทนต่อกลิ่นเรือนร่างไม่ได้ ทนต่อเสียงที่(อิไต้ อิไต้)ไม่ได้(อันนี้คงรู้กัน)
ทนต่อสัมผัส(การเสพกาม)ที่เย้ายวนใจไม่ได้ ก็คือทนสวนทางกับความคิดกับความต้องการของตนไม่ได้
ความพอใจในรส : ได้กินอาหารที่รสชาติดี ก็เกิดความติดใจ กินเข้าไปจนเกิดโทษ(อิ่มเกิน, อ้วน, กินไร้สาระ, กินเล่น) เพราะ ทนต่อรสอาหารไม่ได้
ทนต่อความอร่อยของอาหารไม่ได้ ก็คือทนสวนทางกับความคิดกับความต้องการของตนไม่ได้
อยากได้ iPhone ทั้งที่มีมือถืออยู่แล้ว เห็นคนเค้ามีกันก็อยากมีบ้าง ก็ไปซื้อมาจนได้ นี่ก็ทนสวนทางกับความคิดกับความต้องการของตนไม่ได้
เรื่องของความโกรธ(ความไม่พอใจ) พอเค้าด่าเค้าว่า ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ อับอายขายหน้า ก็ทนไม่ได้ ทนเจ็บใจไม่ได้ ทนเสียใจไม่ได้ ต้องตอบโต้กลับไปอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแสดงอาการออกมา(เช่น ร้องให้, ด่าตอบ, ชกต่อย, ฆ่ากัน) เป็นต้น
แล้วถ้าทนไม่ได้แล้วเกิดอะไรขึ้น เกิดประโยชน์ เกิดโทษอย่างไร ?
แล้วต้องทำยังไงให้ทนต่อกิเลสที่ใช้ให้เรา คิด พูด ทำ ได้ ?
แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรกับการรู้เรื่องนี้ ?
ทิ้งไว้เป็นคำถามให้แสดงความเห็นนะครับ ผมอยากจะรู้ความคิดของคุณ อิอิ
การเรียนการสอนตามหลักวิชาการมีความจำเป็นอยู่ แต่การเรียนรู้จักตัวเอง เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง รู้จักตัวเองต่างหากที่เรียกว่า "รู้จริง"
07 October 2010
04 October 2010
จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าวจริงหรือ
กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นนายของจิต
จิตเป็นนามธรรม มีหน้าที่คิดตามอำนาจของกิเลสหรือปัญญา ตัวอย่างเช่น
ขณะที่ กิเลสความโลภ ครอบงำจิต จิตก็จะคิดอยากได้สิ่งต่าง ๆ เช่น อยากได้ทรัพย์สมบัติ อยากได้ยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นต้น ความโลภก็จะสั่งให้จิตคิดหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้สิ่งนั้น ๆ มาเป็นของตน ผู้ที่มีกิเลสหนาความโลภก็จะมาก จิตก็จะคิดตามอำนาจของกิเลส แม้ผิดกฎหมายก็จะทำ เช่น ใช้วาจา โกหก หลอกลวง ใช้กายไปฉกชิง วิ่งราว จี้ปล้น หรือวิธีอื่น ๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ โดยไม่กลัวบาป กลัวโทษจากกฎหมายบ้านเมือง สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น นี่คือกิเลสความโลภ เป็นนายของจิต
ขณะที่ กิเลสความโกรธ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อความโกรธครอบงำจิต ความโกรธก็จะใช้ให้จิตคิด โกรธ เกลียด อาฆาต พยาบาท ปองร้าย คิดทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น โดยใช้วาจาและกายประกอบกรรมชั่วต่าง ๆ โดยไม่คำนึงว่า จะผิดกฎหมาย ผิดครรลองครองธรรม หรือผิดจารีตประเพณี ทำความเดือดร้อนให้กับตนเอง ผู้อื่น และประเทศชาติบ้านเมือง นี่คือกิเลสความโกรธ เป็นนายของจิต
ขณะที่ กิเลสความหลง คือความรักใคร่พอใจ ในสิ่งต่าง ๆ กิเลสก็สั่งจิตให้ยึดมั่น ถือมั่น ว่าเป็นความสุข เช่น พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ และลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความหลง ก็สั่งจิตให้คิด รักใคร่พอใจ เมื่อตาเห็นรูปที่สวย หูได้ยินเสียงอันไพเราะ เมื่อจมูกได้กลิ่นหอม เมื่อลิ้นได้ลิ้มรสอาหารที่อร่อย เมื่อกายสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน นุ่ม ก็เกิดอารมณ์รักใคร่ พอใจ แล้วยึดติดในสิ่งต่าง ๆ หลงในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็เช่นเดียวกัน เมื่อพอใจรักใคร่ในสิ่งใดกิเลสความหลงก็จะใช้ให้จิตคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข จึงคิดไขว่คว้าหามาเป็นของตน นี่คือกิเลสความหลงเป็นนายของจิต
เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่ากิเลสทั้ง 3 อย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นนายของจิต คอยสั่งจิตให้แสดงออกมาทางวาจา ทางกาย ให้ทำตามอำนาจของกิเลสข้อใดข้อหนึ่งที่ครอบงำจิตในขณะนั้น
ปัญญาเป็นนายของจิต
เมื่อกิเลส ความโลภเกิดขึ้น ปัญญาก็จะเตือนจิตไม่ให้ลุ่มหลง มัวเมา กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ปัญญาชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ๆ มีความทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา ทุกอย่างไม่ใช่ของเราและไม่ใช่ของใคร เพราะเมื่อตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้เลย ควรแบ่งปันทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ให้ทานกับผู้ที่ควรให้ เมื่อจิตคิดได้ดังนี้แล้ว ความโลภก็จะคลายลงแล้วปัญญาก็จะนำคำสอนของพระพุทธองค์มาอบรมสั่งสอนจิตอยู่เสมอ ๆ ความทุกข์ที่เกิดจากความโลภ ก็จะหมดไปในที่สุด นี่คือปัญญา เป็นนายของจิตที่ถูกความโลภครอบงำ
เมื่อกิเลส ความโกรธเกิดขึ้น ปัญญาก็จะคอยอบรมสั่งสอนจิต ไม่ให้โกรธ เพราะเมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์และสามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง เช่น คิดอาฆาตพยาบาท ปองร้าย ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ปัญญาก็จะนำคำสอนของพระพุทธองค์มาอบรมสั่งสอนจิตให้เห็นโทษของความโกรธ ให้มีความรัก ความสงสารต่อผู้อื่น ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความโกรธจะลดลง และหมดไปในที่สุด นี่คือ ปัญญาเป็นนายของจิตที่ถูกความโกรธครอบงำ
เมื่อกิเลส ความหลงเกิดขึ้น จิตก็จะเกิดความพอใจรักใคร่ลุ่มหลงมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เพราะความหลงเข้าใจผิดว่าทุก ๆ อย่างทำให้มีความสุข ผู้มีปัญญา รู้ว่าจิตถูกกิเลสครอบงำแล้ว ก็จะใช้ความรู้จากคำสอนของพระพุทธองค์ที่ศึกษาและรู้ตาม นำมาสอนจิตให้คิดว่า สิ่งต่าง ๆ ที่จิตยึดมั่นถือมั่นนั้น ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นความพอใจที่เกิดจากกิเลสความหลง แท้ที่จริงแล้วความสุขที่ได้รับนั้น มันเป็นความสุขที่อิงอามิส ซึ่งมีความทุกข์รวมอยู่ด้วย เราจะทุกข์กับสิ่งต่าง ๆ เพราะไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน แม้ตัวเราเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และจะต้องตายในที่สุด เมื่อจิตถูกปัญญาอบรมสั่งสอนให้เข้าใจ ว่ามีความรักสิ่งใด สิ่งนั้นต้องทำให้เกิดทุกข์ ก็จะคลายความทุกข์ลง และระวังไม่ให้กิเลสความหลงมาเป็นนายของจิตอีกต่อไป ความทุกข์ที่เกิดจากความหลงก็จะหมดไป
นี่คือปัญญาเป็นนายของจิตที่ถูกความหลงครอบงำ
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า พลังแห่งปัญญาเป็นนายของจิต และพลังแห่งกิเลสก็เป็นนายของจิต เช่นกัน ส่วนกายนั้นเป็นบ่าวของจิตจริง เพราะทำตามคำสั่งของจิตเสมอ ไม่ว่าจิตนั้นจะอยู่ภายใต้ อำนาจของปัญญา หรือกิเลสก็ตาม บางครั้งจะเห็นได้ว่าจิตอยู่เฉย ๆ ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข ไม่มีความดีใจ หรือเสียใจ ที่เรียกว่าอุเบกขาอารมณ์ เพราะจิตในขณะนั้นไม่ถูกปัญญาหรือกิเลสครอบงำ
ขอทุกท่าน จงคิด พิจารณาว่า เมื่อเกิดมีสิ่งใดมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตจะคิดตามสิ่งที่มากระทบทันที ให้สำรวจดูว่าเรื่องที่จิตคิดในขณะนั้น เกิดจากอำนาจของกิเลสหรือปัญญา แท้ที่จริงแล้ว กิเลสและปัญญาต่างหากที่เป็นนายของจิตและกาย
...ที่มา...
Subscribe to:
Posts (Atom)